วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม้ดอก : ซ่อนกลิ่น

ซ่อนกลิ่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Polianthes tuberosa 
ชื่อวงศ์ AGAVACEAE
ชื่อสามัญ Tuberose
ชื่ออื่นๆ ซ่อนกลิ่น
ถิ่นกำเนิด อเมริกาใต้
การขยายพันธุ์ แยกหน่อ, แบ่งหัว



ประวัติและข้อมูลทั่วไป

 
ซ่อนกลิ่นเป็นไม้ล้มลุก ประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวในวงศ์เดียวกับพลับพลึง ดอกจะมีกลิ่นหอมตั้งแต่เวลาเย็นถึงตอนกลางคืน ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ มีอายุหลายปี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


ซ่อนกลิ่นเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเป็นหัว อยู่ใต้ดิน ลักษณะของหัวจะคล้ายๆ กับหัวหอม ใบมีสีเขียวเล็กและเรียวยาวโผล่ออกมาจากพื้นดิน ใบยาวประมาณ 1-1.5 ฟุต ดอกจะชูช่อออกมาตรงกลางกอของลำต้นและมีดอกเกาะตรงก้านดอกเรียงกันเป็นแนวตาม ก้านดอก ดอกมีสีขาวยาวประมาณ 1 นิ้ว ช่อดอกหนึ่งๆ จะยาวประมาณ 2-2.5 ฟุต แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 40-90 ดอก กลีบดอกแต่ละกลีบจะไม่เท่ากัน กว่าดอกจะบานหมดทั้งช่อใช้เวลา 5-7 วัน และมีกลิ่นหอมมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน

พันธุ์ที่ใช้ปลูก

•พันธุ์ดอกลา มีกลีบดอกเพียงชั้นเดียว
•พันธุ์ดอกซ้อน มีกลีบดอกซ้อนกัน





การปลูกและดูแลรักษา

ซ่อนกลิ่นเป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงแดดจัดควรปลูกไว้กลางแจ้ง ชอบดินร่วนไม่ชอบดินเหนียวและต้องมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ซ่อนกลิ่นเป็นไม้ที่ชอบน้ำต้องหมั่นรดน้ำให้เปียกชื้นอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ดินแห้งผากจะทำให้ซ่อนกลิ่นออกดอกไม่ดก

การขยายพันธุ์

1. การแยกหน่อ ทำได้โดยการใช้มือหรือมีดปลิดแยกหน่อออกจากกอเดิมแล้วนำไปปลูกลงแปลงได้ทันที การแยกหน่อควรแยกก่อนออกดอก วิธีการนี้จะทำได้ง่ายและได้ต้นใหม่จำนวนมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของกอเดิมด้วย


2. การใช้หัว เป็นวิธีการที่นิยมกันมาก ทำง่าย สะดวก และเกษตรกรสามารถเก็บรักษาส่วนที่ขยายพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูต่อไปด้วย

3. การแบ่งหัว เป็นวิธีการขยายพันธุ์โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติคล้ายกับการขยายพันธุ์บอนสีโดยการแบ่งหัวให้มีตาติดอยู่กับส่วนที่ตัด แล้วนำไปปักชำ เมื่อต้นงอกและมีใบประมาณ 2-3 ใบ ก็นำไปปลูกได้ แต่เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ช้า ไม่เหมาะที่จะทำเป็นการค้า การเก็บรักษาหัวเพื่อใช้ขยายพันธุ์ในฤดูกาลต่อไป การเก็บหัวจะเก็บจากแปลงที่มีอายุเลย 3 ปีไปแล้ว เพราะซ่อนกลิ่นที่อายุมาก ผลผลิตจะลดลง จำเป็นต้องรื้อแปลงปลูกใหม่

ก่อนจะทำการเก็บหัวควรงดการให้น้ำลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งสังเกตว่าใบเหลืองจนหมดแล้ว จึงขุดเอาหัวขึ้นมา สลัดเอาดินออกให้หมด แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ไม่ให้ถูกฝน หัวที่กองไว้ควรหมั่นกลับทุก ๆ 2-3 วัน กรณีที่เก็บนาน ๆ ควรแช่ยากันราก่อนเพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลาย


ซ่อนกลิ่นมีโรคและแมลงรบกวนน้อยมาก โรคที่พบในช่วงฤดูฝน

 
1. โรค Botrytis Blight โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วมาก โดยเฉพาะช่วงอากาศมีความชื้นสูง โดยสังเกตเห็นจุดฉ่ำสีน้ำตาลบนดอกและใบ จากนั้นจุดนี้ก็จะยาวขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเหลือง หรือมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลปนแดงตรงกลาง ทำให้ดอกและใบที่เป็นโรคเน่าอย่างรวดเร็ว การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยไซเนบ มาเนบ เฟอร์แนบ แคบแทน หรือไดคลอร์ สัปดาห์ละครั้ง ตั้งแต่ใบยาวประมาณ 10-20 ซม. หรือฉีดก่อนระยะฝนชุก


2. โรคที่เกิดจากเชื้อ Selerotium rolfsii จะพบมากในระยะที่มีฝนตกชุก เชื้อจะกระเด็นไปเกาะตามส่วนของพืชที่อยู่บริเวณผิวดิน จึงทำให้ใบและก้านดอกเน่าหักพับลง การป้องกันได้โดยการฉีดพ่นด้วยแคปแทน ไซแนบ หรือมาเนบ สัปดาห์ละครั้ง


3. โรครากปม เกิดจากไส้เดือนฝอย ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ใบเหลืองเหี่ยวตอนกลางวันและฟื้นตอนกลางคืน เมื่อทิ้งไว้นานจะทำให้ตายได้ การป้องกันโดยใช้เมทธิลโบรไมด์ ฆ่าเชื้อในดิน การกำจัดใช้นีมากอน ฉีดรอบ ๆ ต้นพืช เพื่อทำลายไส้เดือนฝอย หรือจุ่มหัวซ่อนกลิ่นในน้ำร้อน 120 องศาฟาเรนไฮด์ เป็นเวลา 1 ชม. แล้วผึ่งให้แห้งก่อนปลูกเพื่อกำจัดไส้เดือนฝอยที่ติดมากับหัวพันธุ์


4. เพลี้ยไฟ จะเข้าทำลายก้านดอกและช่อดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยงแล้วทำให้ช่อดอกและก้านดอกบริเวณส่วนปลายขรุขระเป็นคลื่น ดอกไม่โตและไม่บานอีกด้วยซึ่งเกษตรกรเรียกว่า "ช่อหิน" การป้องกันกำจัด ควรฉีดยาป้องกันตั้งแต่แรกคือใช้ยาพวกอะโซดริน พาราไธออนหรือมาลาไธออน สัปดาห์ละครั้ง

 
5. เพลี้ยไฟแป้ง เป็นแมลงศัตรูอีกตัวหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อการปลูกซ่อนกลิ่นในปัจจุบันค่อนข้างมาก โดยการดูดน้ำเลี้ยง ทำให้เกิดโรคโคนเน่าตามมา การป้องกันกำจัด ควรฉีดพ่นด้วยยากำจัดแมลงทั่ว ๆ ไป เช่น มาลาไธออน พาราไธออน หรือ อะโซดริน สัปดาห์ละครั้ง



ขอบคุณที่มา http://www.panmai.com/GardenSong/Flower_11.shtml

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Justin Bieber, Gold Price in India